เบื้องต้นข้อมูลรถใหม่ TOYOTA Mitsubishi Nissan Honda

ไวรัสการเงินที่ต้องรีบกำจัด

ไวรัสการเงินที่ต้องรีบกำจัด





"หนี้-การพนัน-ความโลภ" ไวรัสตัวร้ายเคยมั้ย เวลาเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ ถูกบรรดาไวรัสหลากสายพันธุ์รุมสกรัมซะจนเครื่องพังพินาศ ข้อมูลอันมีค่ามากกว่าเงินทองก็สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ไม่ต่างกัน ทุกวันนี้มี "ไวรัสการเงิน" หลายตัว ที่คอยสร้างความปั่นป่วนให้กับสุขภาพทางการเงินของคุณ ถ้ามันเข้ามาแค่ปั่นป่วนก็ดีไป แต่ถ้าปล่อยให้ไวรัสลุกลามบั่นทอนสุขภาพทางการเงินของคุณแล้วล่ะก็ ไม่ดีแน่

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มรู้ตัวว่า ไวรัสทางการเงินกำลังมาเคาะประตูบ้าน ก็อย่าใจอ่อนยอมให้มันเข้ามาแต่โดยดี หรือบางคนที่สุขภาพทางการเงินยังดีไม่มีไวรัสเข้ามาก่อกวน ก็คอยระวังภัยไว้ให้ดี

Fundamentals ฉบับนี้ พาไวรัสทางการเงินมาแนะนำตัวกับผู้อ่าน เผื่อเจอหน้าเจ้าไวรัสพวกนี้จะได้ปัดป้องทันกาล ขึ้นชื่อว่า "ไวรัส" แค่ได้ยินก็สยองแล้ว ไม่ว่ามันจะมาในรูปของไวรัสพันธุ์เก่าหรือใหม่ก็ตามที และไม่ว่ามันจะเป็นไวรัสที่ผ่านมาทางโลกไซเบอร์ ไวรัสที่พ่นพิษร้ายใส่สุขภาพกาย ไปจนถึงไวรัสที่บั่นทอนสุขภาพทางการเงินของคุณก็ตามที ล้วนเป็นไวรัสที่น่ากลัวแทบทั้งสิ้น

ไวรัสที่แพร่กระจายในเครื่องคอมพิวเตอร์ คุณอาจจะแค่คลิกแล้วดีลีทมันทิ้งซะ หรือหาโปรแกรมดีๆ ที่ได้ผลชะงัดมาคอยป้องกันไม่ให้มันเข้ามาสร้างความปั่นป่วน แต่ไวรัสทางการเงินนั้น ลองมันได้แพร่เชื้อร้ายๆ เข้าสู่คุณแล้ว ดูเหมือนว่าวิธีหาทางกำจัดมันนั้น อาจจะยากเท่าเข็นครกขึ้นภูเขา

อะไรบ้างที่เป็นไวรัสทางการเงินอันน่ากลัว สำหรับกระเป๋าสตางค์ของคุณ ลองมาฟังความเห็นของบรรดาผู้แก่กล้าวิชาการเงินหลายคน ที่มาให้ทัศนะพร้อมข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงไวรัสเหล่านี้

@ขาด "สติ-วินัย" ไวรัสจะถามหา

"วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ" รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ให้ความเห็นว่า ไวรัสทางการเงินเกิดขึ้นได้ทั้งแง่มุมของการใช้จ่าย การออมและการลงทุน

สำหรับไวรัสด้านการใช้จ่ายนั้น อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาถ้าใช้จ่ายโดยขาดสติ เพราะบางครั้งบางคราวคนเราอาจจะเผลอซื้อจ่ายแบบลืมตัว ฉะนั้น ก็ต้องบอกให้คนใกล้ตัวคอยกล่าวเตือน เช่น สามีเห็นพฤติกรรมภรรยาที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ก็ต้องรีบเตือนว่าให้ชอปปิงเพลามือลงหน่อย

ส่วนไวรัสทางด้านการออมนั้น ก็เกิดขึ้นได้ถ้าขาดวินัยอันแข็งแกร่ง จริงอยู่การสร้างวินัยเป็นเรื่องยาก แต่ต้องค่อยๆ สร้างขึ้น

"ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนออมไม่เก่ง ก็ค่อยๆ สร้างเป้าหมายระยะสั้นๆ ก่อน พอเริ่มเข้าที่เข้าทางก็ค่อยๆตั้งเป้าหมายที่ไกลและใหญ่ขึ้น ระหว่างเส้นทางการออม ถ้าประสบความสำเร็จก็ให้รางวัลตัวเองบ้าง จะได้มีกำลังใจในการออม"

สำหรับไวรัสทางการลงทุนนั้น วิวรรณบอกว่า เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นบางครั้งเกิดจากทิฐิของการลงทุน บางครั้งเกิดจากความโลภ

"นักลงทุนบางคนก็คิดว่าตัวเองเก่ง เกิดทิฐิทางการลงทุน เช่นซื้อหุ้นไปแล้ว อาจจะลงทุนผิดตัว แต่ไม่ยอมตัดขาดทุนหรือถอยออกมาเพื่อหยุดการขาดทุน เพราะยังมีทิฐิมาบังตา ก็เลยไม่มีสายตาอันเฉียบคมเอาไว้มองการลงทุน บางคนก็เป็นประเภท เสียแล้วต้องเอาคืน คือพอขาดทุนจากหุ้นตัวนั้นแล้ว ก็ไม่ยอมถอย แบบนี้ก็ชักเริ่มเข้าข่ายเหมือนการพนันไปแล้ว อยากบอกว่า เมื่อขาดทุนแล้วก็ลืมมันไปเถอะ"

หรือบางครั้งถ้าเราตัดขาดจากความโลภ รู้จักพอ มีเป้าหมายของผลตอบแทนที่ชัดเจน เมื่อทำกำไรในระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วขาย แบบนี้ก็จะเป็นทางหนึ่งที่เป็นคนปลอดไวรัสทางการเงินได้

@"การพนัน" ไวรัสที่น่ากลัว

ด้าน "อัจฉรา สุทธิศิริกุล" กรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย ให้ความเห็นว่า ไวรัสทางการเงินอีกประเภทหนึ่งคือ "การพนัน" นั่นเอง เธอบอกว่าประเภทนี้อาจมีอาการคล้ายปาราสิต คือ เกาะเราแล้วค่อยๆ สูบเงินออกไป ทำมาหาได้แทบตาย แต่กลับหมดไปกับการซื้อหวยและเล่นพนัน ไม่รวยง่ายหรอก และถึงแม้ว่าจะถูกบ้าง เงินที่ถูกรางวัลก็จะถูกผลาญไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนไวรัสอีกประเภทหนึ่งที่ระบาดมาก คือ การหลอกลวงประเภทแชร์ลูกโซ่ การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีและเร็ว ความเสี่ยงต่ำ หรือการหลอกลวงประเภทเอาของที่โม้ว่าดี แต่มีความจำเป็นที่ต้องขายถูก

เช่นที่เคยมีในหน้าข่าวคือ เอาลอตเตอรี่ที่ปลอมว่าถูกรางวัล แต่ไม่สามารถไปขึ้นรางวัลได้เองจึงมาขายถูกๆ เหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น เป็นการใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของมนุษย์ ซึ่งก็คือความโลภเป็นหลัก

ในความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่จะได้มาง่ายๆ ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตาม ความเสี่ยงอาจเกิดจากการต้มตุ๋น หรือความเสี่ยงอาจเกิดจากบุคคลที่ชักชวนเราบอกไม่ครบ หรือบอกไม่หมด

"ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้ให้ตั้งคำถามง่ายๆ ว่าของดีแบบนั้นเขาจะมาให้เราทำไม ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ที่รักเรามากๆ เป็นคนอื่น แม้เป็นญาติพี่น้องก็ต้องสงสัยเอาไว้ เพราะแม้ว่าเขาจะจริงใจกับเรา ก็อาจถูกคนอื่นหลอกมาอีกที ของอย่างนี้ป้องกันได้ด้วยวิธีเดียว คือ มีสติที่ดี ไม่โลภมาก และสงสัยทุกกรณีที่ดีเกินไป ท่องไว้เสมอ ผลตอบแทนสูง เสี่ยงสูง"

อัจฉราบอกว่า หนี้ก็ถือว่าเป็นไวรัสทางการเงินอีกอย่างหนึ่ง แต่หนี้มีหลายประเภท ถ้าหนี้ที่เกิดจากการซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัว ไม่ใช่ไวรัส เป็นการลงทุน และบังคับให้คนออม แต่หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เกินตัว ดอกเบี้ยพอกหางหมู โดยไม่เข้าใจว่า เจ้าหนี้เงินกู้หรือบัตรเครดิต จะคิดดอกเบี้ยสูงมาก เป็น 20% ก็นับว่าเป็นไวรัสชนิดร้ายแรง ทำให้กระแสเงินไหลออกหมดตัวได้ง่ายๆ

@"หนี้" ไวรัสการเงินที่สุดร้ายแรง

"เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์" อดีตนักการเงินคนหนึ่ง ให้ทัศนะว่า ในมุมมองของเขา ไวรัสการเงิน มีอยู่ 3 อย่างคือ "หนี้" "กระแสเงินสด" และ "เคราะห์"

เริ่มจากการเป็นหนี้ เรืองวิทย์บอกว่า หนี้เป็นไวรัสทางการเงินที่ร้ายแรงอย่างหนึ่ง ถ้าเราปล่อยให้เกิดหนี้จนไม่สามารถจัดการได้ ก็เหมือนกับเราปล่อยให้ไวรัสกัดกร่อนสุขภาพทางการเงิน สำหรับคนเป็นหนี้เมื่อรู้ตัวดีว่าเราเป็นหนี้เข้าแล้ว ก็ต้องพยายามเยียวยาตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก็ดี หรือไม่ก็หาทางเพิ่มรายได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะลองเข้าแผนฟื้นฟู ลองเจรจายืดระยะการชำระหนี้ออกไป

"คนส่วนใหญ่พอรู้ว่าตัวเองมีหนี้ ก็ต้องรีบสะสางหนี้เก่า และพยายามอย่าสร้างหนี้ใหม่ หาทางแก้ให้ถูกทาง เช่นจะสะสางหนี้ก้อนเดิม ก็ไม่ใช่ไปกู้เงินนอกระบบมาผ่อนหนี้ก้อนเก่า แบบนี้เขาเรียกใช้ยาผิด จะยิ่งไปกันใหญ่

ส่วนของกระแสเงินสดนั้น เรืองวิทย์บอกว่า เป็นไวรัสทางการเงินอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถึงแม้จะดูไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นไวรัสที่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้เราได้เหมือนกัน บางคนปล่อยให้รายจ่ายมากกว่ารายได้ซะจนเคยชิน หรือบางคนปล่อยให้สินทรัพย์ที่มีกลายเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แบบนี้ก็ต้องดูว่าสินทรัพย์ที่เรามีนั้น สามารถสร้างเงินสดได้แค่ไหน

"เช่นบางคนเคยฝากแบงก์ ได้ดอกเบี้ยปีละแสนตอนดอกเบี้ย 10% ตอนนี้อาจจะเหลือแค่ปีละ 2-3 หมื่น แบบนี้ก็อยู่ไม่ได้แล้ว ต้องหาช่องทางที่สร้างกระแสเงินสดให้ดีขึ้น หลายคนบอกไม่เป็นไร ฉันไม่ได้เป็นหนี้ แต่เงินไม่เคยพอใช้เลย แบบนี้ก็ถือว่าเป็นไวรัสทางการเงินอย่างหนึ่งเหมือนกัน"

สำหรับ "เคราะห์" ที่เรืองวิทย์บอกว่าเป็นไวรัสทางการเงินอย่างหนึ่งนั้น เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่จริงก็คือพวกอุบัติเหตุชีวิตทั้งหลายแหล่ ที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน

เช่นเราคิดมาตลอดว่าเรามีสุขภาพที่ดี แต่ใครจะรู้ว่าวันใดวันหนึ่ง เราอาจเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหัน หรือบางทีญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด อาจจะเจอปัญหาเรื่องโรคภัย ต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาเยียวยา ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน พอเจอเรื่องฉุกเฉินก็อาจจะแย่ได้

ทางที่ดี ถ้าไม่อยากให้ไวรัสตัวนี้เข้ามาข้องแวะ เราอาจจะรับมือความเสี่ยง ด้วยการทำประกันหรือไม่ก็เตรียมเงินสำรองเอาไว้

@"ความโลภ" ไวรัสของการลงทุน

"วนา พูนผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี(ไทย) ให้ความเห็นถึงไวรัสทางการเงินว่า มีหลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกคงเป็น "ความโลภ" ที่เกิดจากตัวเรานี่เอง เมื่อไหร่ที่ขาดสติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน หรือการลงทุน ย่อมทำให้เกิดไวรัสทางการเงินได้ทั้งสิ้น

"ยิ่งถ้าเป็นนักลงทุน โอกาสจะเจอไวรัสทางการเงินมีสูงมาก เวลามีข่าวลือ ข่าวปั่นอะไรก็ตาม แล้วเราแห่ลงทุนตามข่าวลือ มีพฤติกรรมชอบซื้อตามคนอื่น ทั้งไม่มีข้อมูลที่รู้จริง ผมว่าถ้าไม่อยากติดไวรัส เราต้องลงทุนอย่างไม่โลภ มีสติ และรู้เท่าทันตัวเองตลอด"

ส่วน "หนี้" นั้น จริงอยู่ว่าเป็นไวรัสทางการเงินตัวฉกาจ แต่บางครั้งต้องแยกแยะระหว่างหนี้ดีกับหนี้ไม่ดี เพราะหนี้บางอย่างก็ไม่ได้ทำให้เกิดไวรัสทางการเงิน เช่นการเป็นหนี้เพื่อซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งการใช้บัตรเครดิตก็ตามที ถ้าเรารู้จักการใช้บัตรเครดิตให้เป็น ก็จะไม่เกิดหนี้ที่เป็นไวรัสทางการเงิน


@ "ฟุ่มเฟือย" บ่อเกิดโรคร้ายทางการเงิน

"เพิ่มพล ประเสริฐล้ำ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ ให้ทัศนะว่า ในมุมมองของเขา ไวรัสทางการเงินที่ต้องรีบกำจัดคือหนี้สินประเภท Personal Loan และบัตรเครดิต

"ปัจจุบัน ไวรัสกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของโรคร้ายแรงหลายชนิด ซึ่งเป็นโรคที่รักษาให้หายไม่ง่ายนัก เช่น โรคเอดส์ โรคไข้หวัดนก นอกจากนี้ในวงการคอมพิวเตอร์ ก็ยังเรียกโปรแกรมที่มนุษย์เขียนขึ้นมาเพื่อรบกวนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ว่าไวรัสเช่นกัน ปกติการเกิดโรคร้ายอันเนื่องจากไวรัส มักจะต้องเกิดการสะสมที่มากพอจนทำให้เกิดโรคได้ เรียกว่าไม่ได้เกิดทันทีทันใด ซึ่งก็ไม่ต่างจากโรคร้ายทางการเงินเช่นกัน ไวรัสทางการเงินที่ปัจจุบันได้ก่อตัวและระบาดอย่างค่อนข้างรุนแรงแล้วในเมืองไทย คือหนี้สินที่เรียกว่า Personal Loan และบัตรเครดิต"

สาเหตุที่เขามองว่า Personal Loan และบัตรเครดิต ได้กลายเป็นไวรัสร้ายที่ก่อให้เกิดการระบาดในเมืองไทยนั้น เพราะถ้าเรานำคนที่มีหนี้สินประเภท Personal Loan หรือบัตรเครดิต จำนวนมากมาทำงบการเงินในกระเป๋าเป็นสองงบคือ งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ก็จะพบว่าคนๆ นี้ถึงแม้ว่าทุกเดือนจะมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ หรือพูดง่ายๆ ว่าขาดทุนทุกเดือน แต่ถ้าดูงบกระแสเงินสดแล้วกลับมีเงินมาชำระหนี้สินหรือมีส่วนเกินเพื่อจับจ่ายใช้สอยอย่างสบาย พฤติกรรมเหล่านี้สำหรับคนที่ไม่ได้ควบคุมการจัดการเงินอย่างมีแบบแผน ก็จะทำให้เกิด “ภาพลวงตาของความร่ำรวย”

ดังนั้น การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือที่เรียกว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าคนที่รูดบัตรเครดิตตลอดเวลา กว่าจะนึกขึ้นว่าใช้เงินเกินตัวก็เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ และพอมากเข้าวงเงินบัตรเต็ม ก็ขอสินเชื่อ Personal Loan เพื่อมาหักกลบหนี้จากบัตรเครดิต โดยอาจเรียกผ่อนชำระ 60 เดือน เพื่อที่ชำระค่างวดจำนวนไม่มาก ก็กลายเป็นว่าได้วงเงินบัตรเครดิตคืนมา และก็นำไปใช้อีก จนในที่สุดถ้าไม่สามารถกู้เงิน Personal Loan ได้อีก วงเงินบัตรเครดิตก็เต็ม หนี้ Personal Loan ก็มี เหตุผลเหล่านี้ก็คือการก่อตัวของไวรัสทางการเงินที่ค่อยๆ สะสมจนทำให้เกิดโรคร้ายที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะแก้ยากมาก ไหนจะต้นเงินที่ต้องคืน แถมด้วยภาระดอกเบี้ยที่สูงมาก

จริงๆ แล้วการป้องกันไวรัสประเภท Personal Loan หรือบัตรเครดิต นั้น ทำง่ายมากสำหรับคนที่ไม่ได้มีภาระอะไรจำเป็นจริงๆ คือการจัดการเงินให้อยู่ในความพอดี แบ่งปันส่วนให้แก่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น การออม การลงทุน และค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ถ้าท่านจัดการเงินให้ทุกเดือนมี 4 ก้อนนี้ในจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกัน ก็ไม่ต้องกลัวว่าไวรัสเหล่านี้จะทำให้ท่านเป็นโรคได้

"ผมไม่ได้ปิดกั้นว่าจะใช้บัตรเครดิตหรือ Personal Loan ไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ท่านสามารถใช้ผ่อนค่าสินค้ากับบัตรเครดิตได้ หรือกู้ Personal Loan ได้ เพียงแต่จำนวนที่ผ่อนก็ไม่ควรเกินจำนวนเงินที่กันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในแต่ละเดือน แต่การไม่มีหนี้ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุขในการดำรงชีพ แต่ในสังคมปัจจุบันการตลาดของสินค้าฟุ่มเฟือย และการตลาดของบริการประเภทบัตรเครดิต และ Personal Loan มักจะชนะความอยากได้ของเราๆ ดังนั้นเราก็ควรจัดการทางการเงินด้วยความรอบคอบ ไวรัสนั้นมีในตัวคนได้เพียงแต่อย่าให้มีมากเกินไปจนเกิดโรค"

ไวรัสทางการเงิน น่ากลัวและร้ายแรงกว่าไวรัสในโลกไซเบอร์หลายเท่า ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงินได้บอกกล่าวไปข้างต้นแล้วว่าอะไรบ้างที่จะนำพาไวรัสมาสู่คุณ ถ้ารู้แล้ว ก็คอยปัดป้องมันไว้ให้ดี











รายการบล็อกของฉัน