เบื้องต้นข้อมูลรถใหม่ TOYOTA Mitsubishi Nissan Honda

รวมเรื่องของเบรกและการก้ปัญหาที่ควรทราบ

รวมเรื่องของเบรกและการก้ปัญหาที่ควรทราบ
เรื่องของเบรกที่ควรทราบ
รถยนต์ ไม่เพียงแต่ต้องพัฒนาให้แรงเร็วและดูแลให้ทะยานไปได้เท่านั้น ระบบเบรกก็ต้องเยี่ยมและได้รับการดูแลควบคู่กันเสมอ แล่นได้ก็ต้องหยุดได้ ! ระบบเบรก-BRAKE หรือห้ามล้อ มีหน้าที่ชะลอความเร็วหรือหยุดรถยนต์ตามการสั่งงานของผู้ขับ โดยมีพื้นฐาน คือ สร้างแรงเสียดทานด้วยผ้าเบรก ซึ่งกดเข้ากับจานหรือดุมเบรกที่หมุนตามล้อ

เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ในยุคที่รถยนต์เพิ่งถือกำเนิดขึ้น การสั่งให้ผ้าเบรกกดหรือคลาย เป็นการใช้ระบบกลไก เช่น ก้านโยกหรือสลิง คล้ายระบบเบรกของจักรยาน ซึ่งสะดวกในการออกแบบและทำงาน แต่ขาดความแม่นยำในการควบคุมจากผู้ขับ เช่น สลิงยืดหรือต้องปรับตั้งบ่อย

ต่อมาจึงใช้ของเหลวในการถ่ายทอดการสั่งงานจากผู้ขับไปยังการกดผ้าเบรก ซึ่งกลายเป็นระบบเบรกพื้นฐานมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วจึงพัฒนาส่วนปลีกย่อยกันออกไป แต่ไม่ว่าจะมีรายละเอียดของอุปกรณ์อย่างไร ก็ยังใช้การถ่ายทอดด้วยของเหลวคือน้ำมันเบรกเป็นหลัก

หลักการถ่ายทอดการควบคุมด้วยน้ำมันเบรก จากการกดเท้าลงบนแป้นเบรก เพื่อสั่งให้ผ้าเบรกขยับตัวกดจานหรือดุมเบรก เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ คือ นำกระบอกเข็มฉีดยามา 2 อัน ดูดน้ำไว้ทั้ง 2 กระบอก แล้วต่อท่อยางขนาดเล็กที่บรรจุน้ำไว้เต็มเข้ากับหัวของกระบอกฉีดยาทั้ง 2 น้ำทั้งหมดก็กลายเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อกดแกนของกระบอกฉีดยาด้านหนึ่งเข้าไป (เสมือนมีการกดแป้นเบรกที่ต่ออยู่กับแม่ปั๊มด้านบน) น้ำก็จะถูกไล่ผ่านท่อยางขนาดเล็ก ทำให้แกนของกระบอกฉีดยาอีกตัวหนึ่งดันออก เสมือนกระบอกเบรกที่ล้อดันผ้าเบรกออกไป จะเห็นว่าของเหลวในระบบต้องไม่มีการรั่วซึม ลูกยางรีดในกระบอกต้องกักน้ำได้ และไม่มีอากาศปะปนในระบบ การถ่ายเทแรงดันจึงจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์

พื้นฐานของระบบเบรก
ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก คือ แม่ปั๊มบน- ตัวสร้างแรงดัน, ท่อโลหะและท่ออ่อน, กระบอกเบรกที่ล้ออย่างน้อยล้อละ 1 กระบอก ผ้าเบรก และจานเบรก (ดิสก์) หรือดุมเบรก (ดรัม)

จากนั้นจึงมีการพัฒนาเสริมอุปกรณ์อื่นเข้ามา เช่น แม่ปั๊มบนตัวเดียวแต่แบ่งเป็น 2 วงจรภายใน เป็นล้อหน้า-หลัง หรือทแยงหน้าซ้าย-หลังขวา หน้าขวา-หลังซ้าย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยเมื่อระบบย่อยหนึ่งบกพร่อง จะได้ยังเหลือแรงเบรกอยู่บ้าง, หม้อลมเบรก ช่วยผ่อนแรงในการกดแป้นเบรก โดยการใช้แรงดูดสุญญากาศที่ได้จากท่อไอดีของเครื่องยนต์ มีหลายขนาด เล็กหรือใหญ่ไปก็ไม่ดี, วาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรก ติดตั้งต่อจากแม่ปั๊มเบรกตัวบน ก่อนที่น้ำมันเบรกจะถูกส่งไปยังล้อต่างๆ ช่วยให้แรงดันน้ำมันเบรกกระจายไปอย่างเหมาะสม, เพิ่มจำนวนกระบอกเบรกเพื่อเพิ่มแรงกดที่ผ้าเบรก, เพิ่มขนาดจาน-ดุมเบรก พร้อมเพิ่มพื้นที่ของผ้าเบรกให้สามารถสร้างแรงเสียดทานได้มากขึ้น, เอบีเอส ป้องกันการล็อกของล้อ ฯลฯ

แม่ปั๊มเบรก
ทำหน้าที่สร้างแรงดันน้ำมันเบรกเมื่อมีผู้ขับกดแป้นเบรก ส่วนใหญ่ติดตั้งไว้กับหม้อลมเบรก ภายในประกอบด้วยลูกยางหลายลูกและสปริง โดยจะคืนตัวเองเมื่อไม่มีการกดแป้นเบรก อาการการเสีย คือ ไม่สามารถสร้างแรงดันได้จากลูกยางที่หมดสภาพ ไม่สามารถดันรีดน้ำมันได้ หรือรั่วย้อนออกมา หรือเสียทั้งตัวลูกยางพร้อมตัวเสื้อกระบอกเป็นรอย การซ่อมจึงมีทั้งแบบเปลี่ยนเฉพาะลูกยางพร้อมชุดซ่อมหรือเปลี่ยนทั้งตัว

หม้อลมเบรก
เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรงกดแป้นเบรกให้เบาเท้าขึ้น กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์ยุคใหม่ไปแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำมันเบรก โดยใช้แรงดูดสุญญากาศจากท่อร่วมไอดีของเครื่องยนต์มาช่วยดันแผ่นยางไดอะเฟรมและแกนแม่ปั๊มตัวบนเมื่อมีการกดแป้นเบรก โดยประสิทธิภาพที่แท้จริงของระบบเบรกยังขึ้นอยู่กับอุปกรณ์อื่น ไม่ใช่เฉพาะที่ตัวหม้อลม

ขนาดของหม้อลมต้องพอเหมาะ ขนาดเล็กไปก็หนักเท้าเหมือนเบรกไม่ค่อยอยู่ ขนาดใหญ่ไปก็เบาเท้า แต่แรงกดที่มากเกินไปในขณะที่อุปกรณ์อื่นยังเหมือนเดิม ก็อาจทำให้ล้อล็อกได้ง่ายเมื่อเบรกบนถนนลื่นหรือเบรกกะทันหัน

อาการการเสียที่พบบ่อย คือ ผ้ายางไดอะเฟรมภายในรั่ว เมื่อกดแป้นเบรกจะแข็ง และเครื่องยนต์จะสั่นเหมือนอาการท่อไอดีรั่ว ทดสอบโดยกดแป้นเบรกในขณะจอดและติดเครื่องยนต์เดินเบาไว้ ถ้าหม้อลมปกติ การเหยียบเบรกเมื่อติดเครื่องยนต์แล้วจะเบาเท้ากว่า

ถ้าหม้อลมรั่วแต่แม่ปั๊มตัวบนดี ยังสามารถใช้ระบบเบรกตามปกติได้ แต่จะหนักเท้าในการกดแป้นเบรกเท่านั้นการซ่อมหม้อลมบางรุ่นมีอะไหล่ให้เปลี่ยนเฉพาะผ้ายางไดอะเฟรมพร้อมชุดซ่อม แต่ส่วนใหญ่มักต้องเปลี่ยนทั้งลูก ซึ่งมี 2 ทางเลือกทั้งของใหม่และเก่าเชียงกง

ท่อน้ำมันเบรก
ประกอบด้วยท่อโลหะขนาดเล็ก ทำจากเหล็กหรือทองแดง แล้วมีท่ออ่อนที่ให้ตัวได้ ต่อจากท่อโลหะบนตัวถังไปยังชุดเบรกล้อที่ขยับตลอดเวลาที่ขับอาการเสีย คือ ท่ออ่อนบวมหรือรั่ว

ส่วนท่อโลหะนั้นแทบไม่พบว่าเสียเลย ท่ออ่อนทั่วไปผลิตจากยางทนแรงดันสูง ทนทานเพียงพอสำหรับการใช้งานปกติ แต่ก็มีแบบพิเศษที่นิยมใช้ในรถแข่งมาจำหน่าย เป็นแบบท่อหุ้มสเตนเลสถัก ซึ่งทนทั้งการฉีกขาดจากการกระแทกภายนอกหรือแตกด้วยแรงดันจากภายใน ซึ่งไม่จำเป็นนัก แต่ถ้าอยากจะใส่ก็ไม่มีอะไรเสียหาย และอาจลดอาการหยุ่นเท้าให้การตอบสนองรวดเร็วขึ้นเล็กน้อย ถ้าท่ออ่อนเดิมขยายตัวได้บ้างเมื่อกดเบรก

กระบอกเบรกที่ล้อ
ทำหน้าที่รับแรงดันน้ำมันเบรกที่ถูกดันมา เพื่อดันลูกสูบเบรกภายในกระบอกแล้วไปกดผ้าเบรก ขนาดและจำนวนลูกสูบมีผลต่อแรงกดของผ้าเบรกมีอย่างน้อย 1 กระบอก 1 ลูกสูบ (POT) ต่อ 1 ล้อ ภายในประกอบด้วยลูกสูบพร้อมลูกยางหรืออาจมีสปริงด้วย การมีขนาดของกระบอกเบรกใหญ่หรือจำนวนกระบอกเบรกต่อ 1 ล้อมากๆ (2-4 POT) จะทำให้มีแรงกดไปสู่ผ้าเบรกมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้แม่ปั๊มตัวบนที่รองรับกันได้ดีด้วย

รถยนต์ญี่ปุ่นหรือรถยนต์ขนาดเล็ก-กลาง มักใช้คาลิเปอร์ดิสก์เบรกแบบลูกสูบเดี่ยว 1 POT หรือเรียกว่า SLIDING CALIPER โดยที่รถยนต์ขนาดกลางส่วนใหญ่มักใช้คาลิเปอร์แบบ 2 POT ลูกสูบคู่ประกบซ้าย-ขวาคร่อมจานดิสก์เบรก และรถยนต์ขนาดใหญ่ อาจใช้คาลิเปอร์แบบ 4 POT ในชุดดิสก์เบรกล้อหน้าอาการเสีย คือ ลูกยางหมดสภาพ ไม่สามารถดันลูกสูบเบรกออกไปได้เต็มที่หรือน้ำมันเบรกรั่วซึมออกมา และเสียทั้งตัวลูกยางพร้อมตัวกระบอกเป็นรอย การซ่อมจึงมีทั้งแบบเปลี่ยนเฉพาะลูกยางและชุดซ่อม หรือเปลี่ยนทั้งตัว

ดิสก์/ดรัม
เป็นชุดเบรกที่ล้อ คือ อุปกรณ์ชิ้นที่หมุนพร้อมล้อและรับแรงกดจากผ้าเบรก ผลิตจากวัสดุเนื้อแข็ง เรียบแต่ไม่ลื่น เพื่อให้ผ้าเบรกกดอยู่ได้ ทนความร้อนสูง และไม่สึกหรอง่าย

ดิสก์/ดรัม มีจุดเด่นและด้อยต่างกัน
พื้นฐานดั้งเดิมของรถยนต์ส่วนใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อน นิยมใช้แบบดรัม-DRUM หรือแบบดุมครอบ ต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้แบบดิสก์-DISC หรือแบบจาน เพราะความเหนือชั้นในประสิทธิภาพ แล้วก็ยังพัฒนาตัวดิสก์และอุปกรณ์อื่นให้ดีขึ้นไปอีก

ดรัมเบรก มีลักษณะเป็นฝาครอบทรงกลม มีผ้าเบรกโค้งแบนเป็นรูปเกือบครึ่งวงกลมติดตั้งภายในตัวดรัม ถ้ามองจากภายนอกทะลุกระทะล้อเข้าไปจะเห็นเป็นฝาครอบโลหะทรงทึบ โดยไม่เห็นหน้าสัมผัสและชุดผ้าเบรกที่ถูกครอบไว้ เมื่อมีการเบรก ผ้าเบรกจะเบ่งออกไปดันกับด้านในของตัวดรัม โดยเปรียบเทียบง่ายๆ คือ คนเป็นกระบอกเบรก ยืดแขนออกไปแล้วมีผ้าเบรกติดอยู่ที่ฝ่ามือ มีฝาครอบหมุนอยู่ เมื่อมีการเบรกก็ยืดแขนดันฝ่ามือออกไปให้ฝาครอบหมุนช้าลง

ดรัมเบรกมีจุดเด่นคือ ต้นทุนต่ำ, ทนทาน และมีพื้นที่ของผ้าเบรกมาก แต่มีจุดด้อยคือ กำจัดฝุ่นออกจากตัวเองได้ไม่ดีและอมความร้อน เพราะเป็นเสมือนฝาครอบอยู่ ซึ่งจะทำให้แรงเสียดทานของผ้าเบรกลดลงหรือผ้าเบรกไหม้ และเมื่อใช้งานไปสักพัก หน้าสัมผัสของผ้าเบรกกับดรัมอาจไม่แนบสนิทนัก ต้องตั้งระยะห่างบ่อย หรือแม้แต่มีการปรับตั้งโดยอัตโนมัติก็อาจยังไม่สนิทกันนัก จนขาดความฉับไวในการทำงาน มีผ้าเบรกให้เลือกน้อยรุ่นน้อยยี่ห้อ และเมื่อลุยน้ำจะไล่น้ำออกจากดรัมและผ้าเบรกได้ช้า

ดิสก์เบรก มีลักษณะเป็นจานแบนกลม มีผ้าเบรกแผ่นแบนติดตั้งอยู่รวมกับชุดก้ามเบรก (คาลิเปอร์) แล้วเสียบคร่อมประกบจานเบรก ถ้ามองจากภายนอกทะลุกระทะล้อเข้าไปจะเห็นเป็นจานโลหะเงา เพราะถูกผ้าเบรกถูทุกครั้งที่เบรก และมีชุดก้ามเบรกคร่อมอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเบรกจะมีการบีบผ้าเบรกเข้าหาตัวดิสก์ ต่างจากแบบดรัมที่เบ่งตัวผ้าเบรกออก โดยเปรียบเทียบง่ายๆ คือ คนเป็นกระบอกเบรก มีผ้าเบรกอยู่ที่ฝ่ามือ ทำแขนเหมือนกำลังยกมือไหว้แต่ไม่ชิดสนิทกัน มีแผ่นกลมหมุนแทรกอยู่ระหว่างมือ เมื่อมีการเบรกก็ประกบฝ่ามือเข้าหากัน

ดิสก์เบรกมีจุดเด่น คือ ประสิทธิภาพสูง แม้มีพื้นที่สัมผัสของผ้าเบรกน้อยกว่าแบบดรัมในขนาดดิสก์หรือดรัมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน ทำงานฉับไว ควบคุมระยะห่างและหน้าสัมผัสของผ้าเบรกกับตัวดิสก์ได้ดีโดยไม่ต้องปรับตั้ง ไม่อมฝุ่นเพราะทำความสะอาดตัวเองได้ดี ไล่น้ำออกจากตัวดิสก์และผ้าเบรกได้เร็ว

แต่มีจุดด้อยที่ไม่สามารถนับเป็นจุดด้อยได้เต็มที่นัก คือ ต้นทุนสูงและผ้าเบรกหมดเร็ว โดยมีรายละเอียดย่อยออกไปอีก เช่น มีการพัฒนาการระบายความร้อน เพราะยิ่งผ้าเบรกหรือตัวดิสก์ร้อน ก็ยิ่งมีแรงเสียดทานต่ำลงหรือผ้าเบรกไหม้ ด้วยการทำให้พื้นที่ของจานเบรกสัมผัสกับอากาศมีการถ่ายเทกันมากขึ้น โดยการผลิตเป็นจานหนา มีร่องระบายความร้อนแทรกอยู่ตรงกลาง เสมือนมีจาน 2 ชิ้นมาประกบไว้ห่างๆ กันและมีครีบถี่ๆ ยึด

รถยนต์ในสายการผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้ระบบดิสก์แบบมีครีบระบายความร้อนในล้อหน้า เพราะเบรกหน้ารับภาระในการเบรกมากกว่า ส่วนการเจาะรู และเซาะร่อง มักนิยมในกลุ่มรถยนต์ตกแต่งหรือรถแข่ง เพราะระบายความร้อนได้ดี สร้างแรงเสียดทานได้สูงแต่กินผ้าเบรก และแค่มีครีบระบายก็เพียงพออยู่แล้ว

ส่วนการขยายขนาดของดิสก์เบรกให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก เพราะสามารถเพิ่มพื้นที่ของผ้าเบรกพร้อมกับใช้คาลิเปอร์-ก้ามเบรกให้ใหญ่ขึ้นได้ และมีการระบายความร้อนดีขึ้นจากพื้นที่สัมผัสอากาศที่มากขึ้น นับเป็นหลักการที่เป็นจริง แต่ในการใช้งานมักมีขีดจำกัดที่ตัวดิสก์และก้ามเบรกต้องไม่ติดกับวงในของกระทะล้อ รถแข่งหรือรถยนต์ที่ใช้กระทะล้อใหญ่ๆ จึงจะเลือกใช้วิธีขยายขนาดของดิสก์เบรกนี้ได้

นับเป็นเรื่องปกติที่ระบบดิสก์เบรกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับระบบดรัมเบรก ทั้งที่มีพื้นที่หน้าสัมผัสของผ้าเบรกน้อยกว่า แต่ด้วยจุดเด่นข้างต้น ดิสก์เบรกจะให้ประสิทธิภาพในการเบรกสูงกว่าดรัมเบรก ตัวดิสก์และดรัมเบรก ผลิตจากวัสดุเนื้อแข็งกว่าผ้าเบรกเพื่อความทนทาน แต่ก็ยังมีการสึกหรอจนไม่เรียบขึ้นได้ เพราะผ้าเบรกก็มีความแข็งพอสมควร จึงกัดกร่อนตัวดิสก์หรือดรัมเบรกได้
เมื่อผ้าเบรกหมด ถ้าหน้าสัมผัสของดิสก์หรือดรัมเบรกไม่เรียบก็จะทำให้ผ้าเบรกสัมผัสได้ไม่สนิท แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าต้องเจียร์เรียบตัวดิสก์หรือดรัมเบรกทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าเบรกตามสไตล์ช่างไทยที่ต้องการเงินเพิ่ม เพราะต้องดูว่ายังเรียบพอไหม ถ้าเป็นรอยมากจนลึกเข้าไปค่อยเจียร์ เพราะดิสก์หรือดรัมเบรกมีขีดจำกัดในแต่ละรุ่นว่าต้องไม่บางเกินกำหนด เจียร์มากๆ ก็เปลือง เพราะต้องเปลี่ยนใหม่เร็วขึ้น
การเจียร์จานดิสก์เบรก มี 2 วิธีหลัก คือ ถอดออกมาเจียร์ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป และเจียร์ในรถยนต์ด้วยเครื่องมือพิเศษโดยไม่ต้องถอดออกมา ซึ่งมีข้ออ้างว่าดีกว่าการถอดออกมาเจียร์ เพราะไม่ต้องถอด-ใส่ให้อุปกรณ์ต่างๆ ช้ำและรวดเร็ว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการเจียร์โดยไม่ต้องถอด เหมาะสำหรับประเทศที่มีค่าแรงแพง และถ้าลูกปืนล้อนั้นมีสภาพไม่ปกติก็เจียร์ได้ไม่เรียบ เพราะฉะนั้นถ้าดิสก์เบรกถอดไม่ยากจนเกินไป ควรเลือกใช้วิธีถอดออกมาเจียร์ดีกว่า

การเลือกติดตั้งระบบเบรกในแต่ละล้อมีหลักการพื้นฐานคือ ประสิทธิภาพของระบบเบรกล้อคู่หน้าต้องดีกว่าล้อคู่หลังเสมอ เพราะเมื่อมีการเบรกน้ำหนักจะถ่ายลงด้านหน้า ล้อหลังจะมีน้ำหนักกดลงน้อยกว่า ระบบเบรกหน้าจึงต้องทำงานได้ดีกว่า มิฉะนั้นเมื่อกดเบรกแรงๆ หรือเบรกบนถนนลื่น อาจจะเกิดการปัดเป๋หรือหมุนได้ เสมือนเป็นการดึงเบรกมือ ดังนั้นถ้าอยากจะตกแต่งระบบเบรกเพิ่มเติมก็ต้องเน้นว่า ประสิทธิภาพของเบรกหลังต้องไม่ดีกว่าเบรกหน้า กลุ่มที่เปลี่ยนเฉพาะจากดรัมเบรกหลังเป็นดิสก์ โดยไม่ยุ่งกับดิสก์เบรกหน้าเดิม ต้องระวังไว้ด้วย

รถยนต์ในอดีตเลือกติดตั้งระบบดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ แล้วจึงพัฒนามาสู่ดิสก์เบรกหน้า-ดรัมเบรกหลัง และสูงสุดที่ดิสก์เบรก 4 ล้อ แต่ก็ยังยึดพื้นฐานเดิมคือ เบรกหน้าต้องดีกว่าเบรกหลังเสมอ แม้จะเป็นดิสก์เบรกทั้งหมด แต่ดิสก์เบรกหน้ามักมีขนาดใหญ่กว่า มีครีบระบายความร้อน มีผ้าเบรกขนาดใหญ่ และมีแรงกดมากๆ จากกระบอกเบรกขนาดใหญ่ โดยดิสก์เบรกหลังมักจะเป็นขนาดไม่ใหญ่นัก ไม่มีครีบระบาย มีผ้าเบรกขนาดไม่ใหญ่ และมีแรงกดไม่มากจากกระบอกเบรกขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเบรกหน้า
เรื่องของเบรกที่ควรทราบ ผ้าเบรก คุณเลือกได้
ผ้าเบรกเป็นอุปกรณ์สร้างแรงเสียดทาน โดยการกดเข้ากับดิสก์หรือดรัมเบรก มีพื้นฐาน คือ เนื้อวัสดุของตัวดิสก์หรือดรัมเบรกต้องแข็งเพื่อไม่ให้สึกหรอเร็ว แต่ต้องมีผิวไม่ลื่น ส่วนผ้าเบรกต้องมีเนื้อนิ่มกว่าตัวดิสก์หรือดรัม เพื่อให้มีแรงเสียดทานสูงและสึกหรอมากกว่า เพราะเปลี่ยนได้ง่าย โดยมีการผลิตขึ้นจากวัสดุผสมหลายอย่าง และอาจผสมกับโลหะเนื้อนิ่ม เพื่อให้เบรกในช่วงความเร็วสูงได้ดี
ในอดีตใช้แร่ใยหินแอสเบสตอสเป็นวัสดุหลักของผ้าเบรก เมื่อผ้าเบรกสึกจะเป็นผงสีขาว ไม่เกาะกระทะล้อ แต่สร้างมลพิษในอากาศ ทำลายระบบหายใจของสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันจึงหันมาใช้แกรไฟต์-คาร์บอนแทน เมื่อผ้าเบรกสึกจะมีผงสีดำออกมาเกาะเป็นคราบ ดูสกปรกแต่ไม่อันตราย
ผ้าเบรกมีหลายระดับประสิทธิภาพและความแข็ง ด้วยหลักการง่ายๆ คือ ยิ่งนิ่มยิ่งสร้างแรงเสียดทานได้ง่าย แต่ไม่ทนความร้อน อาจลื่นหรือไหม้ในการเบรกบ่อยๆ หรือเบรกในช่วงความเร็วสูง และยิ่งแข็งยิ่งทนร้อน เบรกดีในช่วงความเร็วสูง แต่ต้องการการอุ่นให้ร้อนก่อน หรือเบรกช่วงความเร็วต่ำไม่ค่อยอยู่ จึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะการขับและสมรรถนะของรถยนต์
ผ้าเบรกเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่ง ถ้าเดิมใช้งานแล้วไม่พึงพอใจ ก็สามารถเลือกให้แตกต่างจากผ้าเบรกมาตรฐานเดิมได้ เพราะผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่มักเลือกผ้าเบรกเนื้อนิ่ม เพื่อรองรับการใช้งานปกติในความเร็วต่ำ-ปานกลาง ผู้ผลิตผ้าเบรกที่เชี่ยวชาญและมีผ้าเบรกหลายรุ่นให้เลือก เช่น FERODO, BENDIX, ABEX, AKEBONO, METALIX, REBESTOS ฯลฯ

เกรดประสิทธิภาพผ้าเบรก
มีหลายระดับ แบ่งตามการทนความร้อน เพราะการสร้างแรงเสียดทานในการเบรกต้องมีความร้อนเกิดขึ้น เมื่อผ้าเบรกร้อนเกินขีดจำกัด ประสิทธิภาพจะลดลง ลื่นหรือไหม้การเลือกต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและสมรรถนะของรถยนต์

เกรดมาตรฐาน S-STANDARD
ใช้กับรถยนต์ทั่วไป ยกเว้นรถยนต์สมรรถนะสูงหรือรถสปอร์ต ส่วนผสมของเนื้อผ้าเบรกสร้างความฝืดได้ง่าย เนื้อผ้าเบรกนิ่ม สามารถลดความเร็วได้ทันที ไม่ต้องการการอุ่นผ้าเบรกให้ร้อนก่อน ทำงานได้ดีเฉพาะช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลาง หรือในขณะที่มีความร้อนสะสมไม่สูงนัก แต่อาจลื่นหรือไหม้ได้ง่ายเมื่อต้องเบรกบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง หรือเบรกในช่วงความเร็วสูงอย่างรวดเร็ว สาเหตุที่รถยนต์ทั่วไปถูกกำหนดให้ใช้ผ้าเบรกเกรด S เพราะส่วนใหญ่ยังต้องมีการใช้งานในเมือง หรือมีการใช้ความเร็วไม่จัดจ้านนัก แม้จะขับเร็วบ้างหรือกระแทกเบรกแรงๆ บ้าง แต่ก็ไม่บ่อย จึงถือว่าเพียงพอในระดับหนึ่ง

เกรดกลาง M-MEDIUM-METAL
รองรับการเบรกในช่วงความเร็วปานกลาง-สูงได้ดี เพิ่มความทนทานต่อความร้อนโดยตรง และความร้อนสะสมในการเบรกสูงขึ้นกว่าผ้าเบรกเกรด S แต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งานช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลางได้ดี เพราะเนื้อผ้าเบรกยังไม่แข็งเกินไป ไม่ต้องอุ่นผ้าเบรกให้ร้อนก่อนส่วนมากจะมีส่วนผสมของโลหะอ่อน หรือวัสดุที่สามารถสร้างแรงเสียดทานเมื่อมีความร้อนสูงได้ดี มีความแข็งปานกลาง เนื้อของผ้าเบรกอาจเป็นสีเงาจากผงโลหะที่ผสมอยู่รถยนต์ทั่วไป

ถ้าผู้ขับเท้าขวาหนัก แม้ไม่ได้ตกแต่งเครื่องยนต์ หรือเครื่องยนต์มีพลังแรงสักหน่อย ก็สามารถเลือกใช้ผ้าเบรกเกรด M แทนเกรด S เดิมได้ เพราะยังสามารถรองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบและทุกช่วงความเร็ว โดยอาจมีจุดด้อยด้านประสิทธิภาพการเบรกในช่วงที่ผ้าเบรกยังเย็นอยู่ใน 2-3 ครั้งแรก และมีราคาแพงกว่าผ้าเบรกเกรด S เพียง 20-50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เกรดกึ่งแข่ง R-RACING
เป็นผ้าเบรกเกรดพิเศษ ซึ่งถูกผลิตเพื่อรองรับรถยนต์สมรรถนะสูงจัดจ้าน-รถแข่ง เหมาะกับการใช้ความเร็วสูง หรือมีความร้อนสะสมที่ผ้าเบรกจากการเบรกถี่ๆ และรุนแรง เนื้อของผ้าเบรกเกรดนี้มักมีการผสมผงเนื้อโลหะไว้มาก บางรุ่นเกือบจะเป็นโลหะอ่อน เช่น เป็นทองแดงผสมเกือบทั้งชิ้นการใช้งานในเมืองด้วยความเร็วต่ำจำเป็นต้องมีการอุ่นผ้าเบรกให้ร้อนก่อน และเบรกหยุดได้ระยะทางยาวกว่าผ้าเบรกเนื้อนิ่มเกรด S-M ส่วนในช่วงความเร็วสูง ร้อนแค่ไหนก็ลื่นหรือไหม้ยาก

ผ้าเบรกเกรดนี้ไม่ค่อยเหมาะกับรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไป ยกเว้นรถสปอร์ตหรือรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงจัดจ้านจริงๆ เพราะไม่เหมาะกับการใช้งานด้วยความเร็วต่ำ ซึ่งลื่นกว่าผ้าเบรกเกรด S อีกทั้งยังมีราคาแพงกว่าผ้าเบรกเกรด S-M ไม่น้อยกว่า 3-5 เท่าด้วย
ในการจำหน่ายจริงมักไม่มีการแบ่งผ้าเบรกเป็นเกรด S-M-R อย่างชัดเจนไว้บนข้างกล่อง ในการเลือกใช้จึงต้องเลือกด้วยการสอบถามระดับของผ้าเบรกในยี่ห้อที่สนใจ ซึ่งมักระบุเพียงว่าผ้าเบรกรุ่นนั้นทนความร้อนสูงกว่าอีกรุ่นหนึ่งในยี่ห้อเดียวกันหรือไม่ หรือดูช่วงตัวเลขของค่าความร้อนที่ผ้าเบรกชุดนั้นสามารถทำงานได้ดี เช่น ผ้าเบรกเกรด S-M ทำงานได้ดีตั้งแต่ 0-20 องศาเซลเซียสขึ้นไป ในขณะที่ผ้าเบรกเกรด R มักมีค่าความร้อนเริ่มต้นที่ 50-100 องศาเซลเซียสขึ้นไป อันหมายถึงการใช้งานในช่วงความร้อนต่ำไม่ดีหรือต้องอุ่นผ้าเบรกก่อนนั่นเอง

ควรเลือกเกรดผ้าเบรกให้ตรงลักษณะการใช้งานอย่างรอบคอบ และโดยทั่วไปเกรด M น่าสนใจที่สุด เพราะคงประสิทธิภาพการเบรกช่วงความเร็วต่ำไว้ใกล้เคียงกับเกรด S แต่รองรับความเร็วสูงได้ดีกว่า และราคาไม่แพง ราคามาตรฐานของผ้าดิสก์เบรก 2 ล้อ (4 ชิ้น) เมื่อซื้อนอกศูนย์บริการ เกรด S-M สำหรับรถยนต์เกือบทุกรุ่น ตั้งแต่ซิตี้คาร์ยันรถสุดหรู ไม่แตกต่างกันมากนัก 800-2,000 บาท คือ ราคาพื้นฐาน ส่วนดรัมเบรก 2 ล้อ ไม่น่าเกิน 1,000 บาท

การเปลี่ยนผ้าดิสก์เบรกส่วนใหญ่จะเปลี่ยนทั้งชิ้น ไม่ใช่เอาแผ่นเก่าไปลอกและย้ำเฉพาะตัวผ้าเบรกเข้าไปใหม่ แต่ผ้าดรัมเบรก มี 2 ทางเลือก เปลี่ยนทั้งชิ้นฝักเบรกพร้อมผ้าเบรกใหม่ทั้งอันเลย กับนำฝักเบรกเดิมไปลอกผ้าเบรกออก แล้วย้ำหรืออัดผ้าเบรกใหม่เข้าไป ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีหลังกับผ้าดรัมเบรก
น้ำมันเบรก
ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดแรงดันจากแม่ปั๊มตัวบนไปยังกระบอกเบรกทุกล้อ ผลิตจากน้ำมันแร่ สาเหตุที่ไม่ใช้น้ำเปล่าเพราะมีความชื้น เกิดสนิมในระบบได้ง่ายและมีจุดเดือดต่ำ ถ้าของเหลวในระบบเบรกร้อนจัด ก็จะเดือดจนเกิดอาการ VAPOUR LOCK กลายเป็นไอแต่ไม่มีทางออก อยู่แต่ในท่อและพยายามจะดันออก ไม่สามารถถ่ายเทแรงดันได้ตามปกติ

มาตรฐานของน้ำมันเบรก แบ่งตามจุดเดือดและจุดเดือดชื้น สาเหตุที่ต้องมี 2 จุดเดือด เพราะในการใช้งานจริง ต้องมีความชื้นจากอากาศและการลุยน้ำแทรกเข้ามาผสมในน้ำมันเบรก จนมีจุดเดือดต่ำลงเรื่อยๆ โดยมีการแบ่งมาตรฐานของน้ำมันเบรกด้วยตัวอักษรย่อ DOT แล้วตามด้วยตัวเลขเดี่ยว ระบุไว้ข้างกระป๋อง เช่น DOT3, DOT4 มีจุดเดือดและจุดเดือดชื้นสูงสุดในการใช้งานที่ DOT5
รถยนต์ทั่วไปกำหนดใช้น้ำมันเบรก DOT3-4 แต่ถ้าจะใช้ DOT4 ไว้ก็ดี เพราะไม่มีผลเสียใดๆนอกจากราคาของน้ำมันเบรกที่แพงกว่ากันไม่มาก ส่วน DOT5 นั้นสูงเกินกว่าการใช้งานทั่วไป แต่ถ้าคิดว่าระบบเบรกรถยนต์ของตนร้อนมากๆ ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ DOT5 ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าตัวน้ำมันเบรกไม่มีการกัดกร่อนลูกยางเบรก เพราะในบางกระแสบอกว่า ถ้าระบบเบรกเดิมกำหนดให้ใช้แค่ DOT3-4 ถ้าเปลี่ยนไปใช้ DOT5 อาจมีปัญหานี้ขึ้นได้ จึงควรตรวจสอบให้ดีก่อนเลือกใช้

การใช้รถยนต์ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเติมผสมน้ำมันเบรกข้ามรุ่นข้ามยี่ห้อหรือข้าม DOT เพราะถ้าไม่เข้าห้องทดลองทางเคมี จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าน้ำมันเบรกต่างรุ่นต่างยี่ห้อหรือต่าง DOT เมื่อผสมกันจะมีปฏิกิริยาทางลบต่อกันหรือไม่

ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรกทั้งระบบทุก 1-1 ปีครึ่ง แม้ไม่มีการรั่วซึม เพราะจะเป็นการไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรกออกจากระบบ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมที่เกิดจากความชื้น ซึ่งจะทำให้ลูกยางเบรกรั่วได้ง่าย และจะได้ใช้น้ำมันเบรกจุดเดือดสูงๆ ต่อไป กรณีนี้มักถูกมองข้าม เพราะถือว่าน้ำมันเบรกยังไม่รั่ว ก็ไม่ต้องทำอะไร ทั้งที่ค่าใช้จ่ายไม่กี่ร้อยบาทและทำได้ตามร้านเบรกทั่วไป
การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเบรก
มีหลายวิธี หลากระดับ และหลายค่าใช้จ่าย โดยขึ้นอยู่กับพื้นฐานเดิมและระดับของความต้องการประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเริ่มจากค่าใช้จ่ายต่ำและง่าย คือ เปลี่ยนผ้าเบรกเกรดสูงขึ้น จาก S เป็น M หรือจาก M เป็น R มีความสะดวก เปลี่ยนได้เลยโดยไม่ต้องดัดแปลงใดๆ แต่ต้องเลือกเกรดผ้าเบรกให้ตรงกับความต้องการและลักษณะการใช้งาน

เปลี่ยนเฉพาะตัวดิสก์เบรก ขนาดเท่าเดิม แต่มีเนื้อวัสดุฝืดกว่าเดิม มักมีเฉพาะชุดแต่ง และไม่ครบในรถยนต์ทุกรุ่น
ขยายขนาดดิสก์เบรกพร้อมคาลิเปอร์-ก้ามเบรกชุดใหม่ มี 3 ทางเลือกหลัก คือ

1. ชุดแต่งชื่อดัง ถ้ามีตรงรุ่นก็แทบไม่ต้องดัดแปลง แต่แพง
2. ดัดแปลงจากรุ่นสูงกว่าในรถยนต์ยี่ห้อเดียวกัน และมักเป็นของเก่าเชียงกง ไม่แพงนัก เช่น นิสสัน 200เอสเอ็กซ์ นำชุดเบรกของสกายไลน์มาใส่ หรือโตโยต้า โซลูน่า นำชุดเบรกของ โคโรลล่า เลวินมาใส่ อาจมีการดัดแปลงบ้าง แต่ก็มักไม่ยาก
3. ดัดแปลงข้ามรุ่นกันเลย ยุ่งยาก แต่ไม่เกินความสามารถช่างไทย

ยกชุดมาจากรถยนต์รุ่นสูงกว่า คล้ายกับข้อ 2 ในหัวข้อที่แล้ว (ขยายขนาดดิสก์เบรกพร้อมคาลิเปอร์-ก้ามเบรกชุดใหม่) แต่เป็นการยกมาทั้งชุดดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมก้ามเบรก หม้อลมพร้อมแม่ปั๊ม อย่างนี้ไม่ต้องลุ้นอะไรมาก ประสิทธิภาพของเบรกดีขึ้นและล้อไม่ล็อกง่ายแน่
เปลี่ยนจากดรัมเบรกเป็นดิสก์เบรก มักมีการพุ่งความสนใจไปที่การเปลี่ยนจากดรัมเบรกหลังในรถยนต์หลายรุ่น สามารถทำได้ แต่ต้องแน่ใจว่าถ้าทำเฉพาะเบรกหลังแล้วจะไม่ดีไปกว่าเบรกหน้าเดิม ถ้าไม่แน่ใจก็ควรหาวิธีทำให้เบรกหน้าดีขึ้นตามไปด้วย อย่าลืมความยุ่งยากในการดัดแปลงระบบเบรกมือล้อหลังไว้ด้วย

ขยายหม้อลม ถ้าไม่มีการเพิ่มขนาดชุดเบรกที่ล้อ ควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้ไว้ เพราะหม้อลมใหญ่จะผ่อนแรงในการกดเบรกมากขึ้น ทำให้มีแรงกดที่ผ้าเบรกมากขึ้นในขณะที่ทุกอย่างยังคงเดิม การเบรกแรงๆ หรือเบรกบนถนนลื่น ล้ออาจล็อกจนปัดเป๋-หมุนได้ง่าย ถ้าอยากเพิ่มขนาดของหม้อลมจริงก็อย่าเพิ่มมาก หรือเปลี่ยนเมื่อมีการขยายขนาดกระบอกเบรกที่ล้อก่อน

เจาะรูดิสก์เบรกเดิมเองเพื่อช่วยระบายความร้อน ควรหลีกเลี่ยง เพราะรูที่เจาะต้องได้ตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ดิสก์เบรกสั่น และเสี่ยงต่อการร้าว


เพิ่มจำนวนหรือขนาดคาลิเปอร์-ก้ามเบรกในแต่ละล้อ ถ้าไม่แน่ใจว่าติดตั้งเข้าไปแล้วล้อจะล็อกง่ายก็ไม่ควรทำ เพราะจานเบรกขนาดเท่าเดิมจะร้อนง่าย แรงดันน้ำมันเบรกจากแม่ปั๊มอาจไม่สมดุลกัน เพราะต้องกระจายแรงดันน้ำมันเบรกต่างออกไปจากเดิม
เบรก นับเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจะทำให้รถยนต์ทะยานไปได้ดังใจ แล่นได้แต่หยุดไม่ได้ก็แย่ !
รวมเรื่องของเบรกและการก้ปัญหาที่ควรทราบ


ที่มา : sawangsangtam.ueuo.com

รายการบล็อกของฉัน